ประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์

ประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์

0 20836

ประวัติความเป็นมาของศาสนาและผู้ก่อตั้งศาสนา

ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย และเผยแพร่อย่างรุ่งโรจน์ในโลกตะวันตก ประวัติศาสตร์ของศาสนามีความยาวนานสืบทอดมาแต่ศาสนายิว แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากศาสนายิวในช่วงของการเผยแพร่ศาสนา คือ ในสมัยที่พระเยซูออกสั่งสอนประชาชน อย่างไรก็ตามศาสนาคริสต์ยังคงยืนหยัดต่อสู่กระแสต้านของสังคมตะวันตกในสมัยนั้นมาได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะ นักเผยแพร่ศาสนาคริสต์มีจิตใจศรัทธาพระเจ้าอย่างเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นและเต็มเปี่ยมไปด้วยความ เสียสละ จึงประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้พวกตะวันตกในสมัยต่อมาได้เข้าสู่กระแสศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า

ประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์มีความสัมพันธ์กับศาสนายิวอย่างใกล้ชิด จนเป็นที่ยอมรับกันว่าทั้งสองศาสนานี้มีลักษณะเป็นศาสนาแห่งประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่มนุษย์เป็นผู้กำหนด แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่พระเจ้าได้เข้ามาเกี่ยวข้องและกำหนดมรรคาแห่งชีวิตที่ทุกคนจะต้องดำเนินไปอย่างถูกต้อง บุคคลในประวัติศาสตร์ของทั้งสองศาสนานี้ อาทิเช่น อับราฮัม (Abraham) โยเซฟ (Joseph) โมเสส (Moses) และกษัตริย์โซโลมอน (Solomon) ฯลฯ ล้วนเป็นศาสดาที่พระเจ้าได้ทรงกำหนดให้เป็นไปตามแผนที่พระองค์ได้วางไว้เพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ให้ถึงความรอด (Salvation) คัมภีร์ไบเบิลทั้งสองภาค พันธสัญญาจึงเป็นคัมภีร์ที่มีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในด้านประวัติศาสตร์ของทั้งสองศาสนา

ประวัติศาสตร์ศาสนายูดายของพวกยิว ทำให้เราเห็นว่า พวกเขามีความผูกพันกับ พระเจ้ามาก เพราะพวกเขาเชื่อว่าตนเองเป็นชาติที่พระเจ้าได้เลือกให้เป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต พระองค์ได้สัญญากับพวกเขา ที่จะให้ดินแดนที่เต็มไปด้วยน้ำผึ้งและน้ำนม พวกเขาจึงเดินทางเร่ร่อนเพื่อจะหาดินแดนที่พระเจ้าได้สัญญาไว้นี้ ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานในการเดินทางของพวกยิว พวกเขาต้องประสพกับความทุกข์ยาก การกดขี่ และภัยจากสงครามของชนชาติ มหาอำนาจ ทำให้พวกเขาต่างรอคอยพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าจะส่งมาเพื่อช่วยเหลือพวกเขาให้พ้นทุกข์ และเป็นผู้ที่จะนำสันติสุขที่แท้จริงมาสู่พวกเขา

ศาสดาประกาศกหลายท่านได้ทำนายเกี่ยวกับการมาของ พระเมสสิยาห์ ยิ่งทำให้ชาวยิวมีความหวังมากขึ้น แม้ในปัจจุบันนี้ชาวยิวในศาสนายูดายยังคง รอคอยอยู่ แต่สำหรับชาวคริสต์พระเมสสิยาห์ คือ พระเยซูคริสต์ (Jesus Christ) บังเกิดขึ้นมาในตำบลเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชื่อเบธเลเฮม(Bethlehem)ในแคว้นยูดาห์ ตรงกับปีพุทธศักราช 543วันที่บังเกิดขึ้นไม่มีการบันทึกแน่นอน แต่ศาสนจักรได้กำหนดเอาวันที่ 25 ธันวาคม ของ(คาทอลิก) ของออร์โธด็อกซ์ กำนดเอาวันที่ 7 มกราคม ของทุกปี เป็นวันเริ่มคริสตศักราชที่ 1 มารดามีนามว่า มารีอา (Maria) ชาวคริสต์เชื่อกันว่า นางมารีอานั้นตั้งครรภ์ไม่เหมือนสตรีอื่น เพราะเป็นการตั้งครรภ์โดยอานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้นพระเยซูจึงเป็นบุตรของพระเจ้า ส่วนโยเซฟ (Joseph) นั้นเป็น บิดาเลี้ยงที่มีสายเลือดสืบมาแต่กษัตริย์ดาวิด

พระเยซูในวัยเด็กนั้นมีจิตใจที่ใฝ่ในธรรม มีความชอบใจที่จะพูดถึงเรื่องธรรมกับ นักศาสนา ครั้นมีอายุได้ 30 ปี จึงรับบัพติศมา (Baptism) หรือการรับศีลล้างบาปจากยอห์น (John) ซึ่งเป็น ศาสดานักบุญในสมัยนั้น การรับศีลล้างบาปนี้กระทำที่แม่น้ำจอร์แดน ต่อมาพิธีนี้ได้กลายเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ ของชาวคริสต์ทุกคนที่จะต้องกระทำเพื่อประกาศตนเป็นคริสต์ศาสนิกชน

หลังจากนั้นพระเยซูได้ออกเทศนาทั่วประเทศเพื่อประกาศ “ข่าวประเสริฐ” อันเป็นหนทางแห่งความรอดพ้นจากบาปไปสู่ชีวิตนิรันดร์ การประกาศศาสนาของพระเยซูนั้นไม่ใช่เพื่อล้มล้างศาสนายูดาย แต่เป็นการปฏิรูปศาสนาเดิมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเน้นความรักต่อพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ในขณะนั้นได้มีผู้สนใจคำสอนของพระเยซู แต่ส่วนมากเป็นชนชั้นชาวบ้าน ที่ยากจนและชาวประมง พระเยซูได้คัดเลือกสาวกจากบุคคลเหล่านี้ได้ทั้งหมด 12 คน

สาวกทั้ง 12 คนนี้ ได้ติดตามรับใช้พระเยซูอย่างใกล้ชิดเพื่อเผยแพร่ศาสนา แต่กระนั้นก็ยังมีสาวกที่มีจิตใจดื้อดึง คือ ยูดาส อิสคาริออท (Judas Iscariot) ยอมทรยศเพื่อเห็นแก่เงินสินบน ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากคำสอนของพระเยซูมีส่วนทำให้ผู้นำศาสนา ยูดาย ขุนนางและคน ร่ำรวยบังเกิดความไม่พอใจ เพราะถูกตำหนิจึงโกรธแค้นคิดหาทางทำร้าย ด้วยการจับตัวไปขึ้นศาลของเจ้าเมืองชาวโรมัน โดยยูดายรับอาสาชี้ตัวพระเยซู เมื่อวันที่ผู้นำศาสนา ยูดายมาจับตัวพระเยซูไป สาวกทั้ง 11 คน ได้รีบหลบหนีทิ้งให้พระเยซูถูกจับไปลงโทษ โดยการตรึงกับไม้กางเขนพระเยซูถูกทรมานอย่างโหดร้ายทารุณจนสิ้นพระชนม์ในขณะที่มีพระชนมายุได้ 33 ปี เท่านั้น จึงใช้เวลาประกาศศาสนาเพียง 3 ปี

ชาวคริสต์เชื่อกันว่าหลังจากที่พระเยซูได้สิ้นพระชนม์ไป 3 วันแล้วได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง โดยปรากฏแก่สาวกทั้ง 11 คน พวกเขาได้ทดสอบพระเยซูหลายครั้งจนมั่นใจว่าการฟื้นคืนชีพของพระเยซูนั้นไม่ใช่เรื่องหลอกลวงแต่เป็นจริง ประกอบกับการเทศนาสั่งสอนย้ำให้สาวกทั้งหลายมีความเข้าใจในพระคัมภีร์ พวกเขาทั้ง 11 คน ได้กลับไปกรุงเยรูซาเล็ม จึงร่วมกันอธิษฐานอย่างขะมักเขม้น นับแต่นั้นมาอัครสาวกทั้ง 11 คน และมัทธีอัส (Matthias) ซึ่งได้รับเลือกเข้ามาในภายหลังรวมเป็น 12 คน ได้ช่วยกันเผยแพร่ศาสนาอย่างมั่นคงทำให้มีผู้เข้ามาเป็นสาวกของพระเจ้ามากมาย แต่ในขณะเดียวกันการเผยแพร่ศาสนามีความลำบากเป็นอย่างมาก เพราะถูกต่อต้านอยู่เสมอจากพวกที่นับถือศาสนายูดาย

ในบรรดาสาวกของพระเยซูนักบุญเปโตร (Petro) ได้รับการแต่งตั้งจากพระเยซูให้เป็น หัวหน้าโดยนัยนี้ท่านจึงเป็นผู้นำสูงสุดของศาสนาคริสต์เป็นคนแรก นักบุญเปโตรได้เผยแพร่ศาสนาถึงกรุงโรม และได้เลือกกรุงโรมเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานของศาสนจักร ในบั้นปลายชีวิตของท่านนั้นได้ถูกพวกทหารโรมันจับทรมานและประหารชีวิต

ความเจริญของศาสนาคริสต์ได้มีมายาวนาน จนกระทั่งถึงยุคล่าอาณานิคมของพวกจักรวรรดิ์นิยมชาวยุโรปและอเมริกัน ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 ศาสนาคริสต์ได้ถูกนำไปเผยแพร่ในประเทศต่าง ๆ ที่นักล่าอาณานิคมเหล่านี้ไปถึง ทำให้คริสต์ศาสนิกชน มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทั้งในทวีปยุโรป อาฟริกา อเมริกา เอเชีย และออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยได้มีนักสอนศาสนาชาวโปรตุเกสและสเปนเข้ามาเผยแพร่ โดยเดินทางมาพร้อมกับพวกทหารและพ่อค้าของประเทศเหล่านั้น ทำให้มีคนไทยนับถือศาสนาคริสต์กระจัดกระจายไปทั่วประเทศ

คัมภีร์ของศาสนาคริสต์

ศาสนาคริสต์และศาสนายูดาย ต่างให้ความเคารพในคัมภีร์ไบเบิ้ล โดยถือว่าเป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพระวาจาของพระผู้เป็นเจ้า ตลอดจนหนทางแห่งความรอดจากทุกข์ทั้งปวง ความหมายของ “ไบเบิล” (Bible) คือ “หนังสือหลายเล่ม ชุดหนังสือ” เพราะเป็นความหมายที่ได้มาจากศัพท์ภาษาละตินและภาษากรีก คือ “บีบลีอา″ (Biblia) ซึ่งเป็นพหูพจน์ของ “บีบลีออน” (Biblion) แต่ภาษาอังกฤษใช้ไบเบิล (Bible) และการที่เรียกว่าไบเบิลนี้ อาจเป็นเพราะคัมภีร์ไบเบิลประกอบด้วยหนังสือหลายเล่มแล้วนำมารวมเป็นเล่มเดียวกัน ในเล่มเดียวกันนี้ต่อมาแบ่งเป็นสองภาค คือ ภาคพันธสัญญาเดิม (The Old Testament) ซึ่งเขียนเป็นภาษาฮิบรูเกือบทั้งหมด มีบางส่วนที่เขียนเป็นภาษาอารามาอิคและภาษากรีก ไบเบิลในภาคนี้เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนายูดายและศาสนาคริสต์ จึงเป็นที่ยอมรับของทั้งสองศาสนานี้ว่า มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นหลักสำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องสมบูรณ์

1. คัมภีร์เก่า ( Old Testament ) หรือพันธสัญญาเดิมเป็นบันทึกเรื่องราวก่อนพระเยซูทรงประสูติ

2. คัมภีร์ใหม่ ( New Testament ) หรือพันธสัญญาใหม่เป็นบันทึกเรื่องราวหลังจากที่พระเยซูทรงประสูติ

ในภาคพันธสัญญาเดิมคริสเตียนออร์โธด็อกซ์นี้ประกอบไปด้วยข้อเขียนต่าง ๆ ทั้งหมด 46 เล่ม (แต่ในคริสต์ศาสนาโปรเตสแตนต์หลายนิกายยอมรับเพียง 39 เล่ม) สำหรับภาคพันธสัญญาใหม่ (The new Testament) เป็นส่วนที่ยอมรับกันในหมู่ชาวคริสต์เท่านั้น ประกอบไปด้วยหนังสือหรือข้อเขียน27 เล่ม ซึ่งเป็นบันทึกประวัติและคำสอนของพระเยซูที่เรียกว่า “พระวรสาร” (The Gospels) มีจำนวน 4 เล่ม หนังสือกิจการอัครธรรมทูต 1 เล่ม จดหมายของบรรดาสาวกถึงคริสตชนในที่ต่าง ๆ 21 เล่ม และหนังสือวิวรณ์ 1 เล่ม

พระวรสาร 4 คัมภีร์ (The Gospels)

คัมภีร์ไบเบิลในส่วนที่เป็นพระวรสาร 4 คัมภีร์ เป็นหนังสือที่มีคนอ่านมากที่สุดและ มีผู้วิจารณ์กันมากที่สุด ซึ่งมีดังนี้คือ

1. พระวรสารของนักบุญมัทธิว (มธ.) มีจำนวน 28 บท

2. พระวรสารของนักบุญมาระโก (มก.) หรือมาร์ค (Mark) มีจำนวน 16 บท

3. พระวรสารของนักบุญลูกา (ลก.) หรือลูค (Luke) มีจำนวน 24 บท

4. พระวรสารของนักบุญยอห์น (ยน.) มีจำนวน 21 บท

เนื้อหาในพระวรสารเกี่ยวกับการเทศน์สอนสาวก เพื่อยืนยันสิ่งที่พวกเขาได้ประสบมาในขณะที่มีชีวิตอยู่ร่วมกับพระเยซู และยืนยันว่าพระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์บุตรของพระเจ้า ดังนั้นพระวรสารทั้ง 4 เล่มนี้ จึงเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับพระชนม์ชีพ และคำสอนของพระเยซูที่ไม่ธรรมดาเหมือนหนังสือประวัติบุคคลทั่ว ๆ ไป แต่เป็นหลักฐานยืนยันและพิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าจริง

พระวรสารทั้ง 4 เล่มนี้ เฉพาะของนักบุญมัทธิวที่เขียนด้วยภาษาอารามาอิค (Aramaic) ถูกยกย่องให้เป็นเล่มแรก ส่วนฉบับปัจจุบันที่อยู่ในคัมภีร์ไบเบิลนั้น ไม่ใช่ฉบับเดียวกับที่ใช้ภาษาอารามาอิคแต่เป็นฉบับที่มีผู้เรียบเรียงขึ้นใหม่ โดยนำเอาฉบับที่เป็นภาษากรีกมารวมกับฉบับของนักบุญมัทธิว และของนักบุญมาร์คหรือมาระโก รวมทั้งคนอื่น ๆ ที่ไม่ปรากฏนาม ทั้งหมดนี้ถูกเรียบเรียงใหม่แต่ยังคงเรียกว่าพระวรสารของนักบุญมัทธิว ในพระวรสารเล่มนี้ได้กล่าวถึงกำเนิดของพระเยซู การเทศนาสั่งสอนโดยเฉพาะ “การเทศนาบนภูเขา″ (Sermon on the Mount) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นแถลงการณ์ฉบับแรกของพระเยซูที่ประกาศโครงการปฏิรูปแนวทางดำเนินชีวิตของมนุษย์ และเชื่อกันว่าเทศนาบทนี้เป็นตอนที่ไพเราะที่สุดในงานนิพนธ์ของนักบุญมัทธิว

สำหรับพระวรสารของนักบุญมาระโกหรือมาร์ค (Mark) นั้น มีเนื้อหาที่เน้นเฉพาะการเป็นพระเมสสิยาห์ของพระเยซูมากกว่าเน้นเสนอคำสอน

ส่วนพระวรสารฉบับของนักบุญลูกาหรือลุค (Luke) เป็นพระวรสารที่เน้นเฉพาะ ในเรื่องคำสอนของพระเยซู แต่มีการจัดลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามแบบพระวรสารของนักบุญมัทธิว

พระวรสารของนักบุญยอห์นนี้มีเนื้อหาเน้นหนักการประกาศว่า พระเยซูเป็นพระเมสสิยาห์หรือพระคริสต์ เพื่อมาไถ่บาปมนุษย์ด้วยการรับทรมานต่าง ๆ จนต่อมาได้กลับคืนชีพ และได้ส่งสาวกออกไปประกาศคำสอนพร้อมด้วยพระจิตของพระเจ้า และอำนาจในการยกบาป นักบุญยอห์นจึงเป็นพยานสำคัญที่ยืนยันความเป็นพระเมสสิยาห์ของพระเยซูเจ้า

หลักคำสอนของศาสนาคริสต์

บรรดาคำสอนทั้งหลายของพระเยซูนั้นเทศนาบนภูเขา (Sermon on the Mount) เป็นคำสอนที่จัดเป็นระบบมากที่สุด และแสดงให้เห็นถึงจุดประสงค์ของพระเยซูที่มีพระประสงค์ปฏิรูปชีวิตมนุษย์ไปสู่หนทางที่ถูกต้อง อีกทั้งเป็นหลักจริยธรรมที่พระองค์ทรงมอบให้แก่มนุษย์ทุกคนได้ปฏิบัติเพื่อความสุขในโลกนี้และโลกหน้า ซึ่งควรแก่การศึกษา โดยตัดมาบางข้อพอเป็นสังเขปและจัดเรียงหัวข้อตามที่ปรากฏอยู่ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ใหม่ โดยเรียงตามลำดับดังนี้ คือ

1. ผู้เป็นสุข หรือบรมสุข 8 ประการ

คำสอนนี้มีลักษณะส่งเสริมการให้กำลังใจแก่คนทุกคน เพื่อให้พวกเขาสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาได้อย่างไม่หวั่นไหว แม้นว่าตนเองจะรู้สึกว่ามีความบกพร่องไม่ดีพอ เป็นคนมีทุกข์โศกเศร้า เป็นคนจิตอ่อนโยน เป็นคนรักความถูกต้องเที่ยงธรรม เป็นคนจิตใจบริสุทธิ์ และเป็นคนที่ถูกกลั่นแกล้งข่มเหง บุคคลเหล่านี้ย่อมได้รับอนุญาตจากพระเจ้าให้อยู่ในอาณาจักรสวรรค์ พวกเขาไม่จำเป็นต้องยินดียินร้ายต่อคำนินทาว่าร้ายของผู้อื่น และไม่ต้องหวั่นเกรงต่อการข่มเหงของผู้ข่มเหงเหล่านั้น

2. เกลือแห่งแผ่นดินโลก

คำสอนนี้ต้องการให้มนุษย์ดำรงรักษาความดีงามเหมือนเกลือรักษาความเค็ม เพราะถ้าทิ้งความดีไปแล้วก็ไม่ต่างไปจากเกลือที่หมดรสเค็ม ประโยชน์ที่จะพึงมีก็หมดไม่ หาคุณค่าใดไม่ได้เลย

3. ความสว่างของโลก

คำสอนนี้เป็นการส่งเสริมและให้กำลังใจแก่ผู้ทำความดีและปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างมั่นคง ความดีที่เขาทำไว้จะมีผลต่อโลกและผู้อื่น เป็นผลให้ผู้ที่เห็นความดีนั้นสรรเสริญพระเป็นเจ้าผู้เป็นพระบิดา เปรียบเหมือนกับลูกที่ดีบิดาย่อมได้รับการยกย่อง เพราะความดีของลูก

4.พระธรรมบัญญัติใหม่(The New Testament)

คำสอนนี้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงค์ของพระเยซูที่มุ่งชี้แจงให้บุคคลทั้งหลาย ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การเผยแพร่ศาสนาที่ได้ดำเนินอยู่นั้น มิได้เป็นไปเพื่อการล้มล้างหรือยกเลิก พระบัญญัติเดิมที่ชาวยิวได้นับถือสืบกันมาหากแต่ว่าเป็นการปฏิรูปคำสอนเดิมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

5.ความโกรธ

คำสอนได้สะท้อนถึงข้อห้ามในพระธรรมบัญญัติเดิมที่ว่า อย่าฆ่าคน แต่พระเยซูได้มาขยายคำสอนนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยชี้ให้ทุกคนพึงระวังในด้านจิตใจด้วยมิใช่ระวังแต่ทางกายเพียงทางเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโกรธซึ่งเป็นอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่ให้ผลในทางกาย การฆ่ายากที่จะเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีความโกรธ ความโกรธจึงเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ทุกคนต้องระวังอย่าให้เกิดขึ้นได้ ความในใจที่มีอยู่จะต้องปลดเปลื้องให้หมด อย่าได้ติดค้างไว้เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อทับถมมากเข้าจะมีผลทางกาย ในที่สุดทำให้เกิดการเข่นฆ่าทำลายล้างซึ่งกันและกัน