บทนำจดหมายจากมาอิง

MM

เราพบหลักฐานแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของมาอิง หรือนักบุญมาเรียมัสซาแรลโล จากจดหมายของท่านส่วนหนึ่ง
แต่ก่อนที่เรามาอ่าน หรือศึกษาจดหมายของท่าน ให้เรารู้จักเบื้องหลังของคุณลักษณะของท่านซึ่งให้คุณค่ากับ…….
สิ่งธรรมดา…..แบบไม่ธรรมดา

สิ่งที่น่าพิศวงยิ่งสำหรับผู้อ่านประวัติของมาเดอร์มัสซาแรลโล โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ “คุ้นเคย” กับกฎพระวินัยจะเห็นว่า มีความพิเศษจากชีวิตธรรมดาของท่าน เพราะชีวิตทั้งครบได้แสดงว่าพระเจ้าทรงกระทำ “กิจการยิ่งใหญ่”พร้อมกันสำหรับผู้ที่รักพระองค์ แท้จริง ความสุภาพของท่านเองได้เป็นพยานถึงสิริมงคลของพระเจ้า ซึ่งทรงใช้สิ่งที่โลกสบประมาทเป็นสื่อแห่งพระวจนะ และความห่วงใยสำหรับสิ่งสร้างอื่น ตามความจริง …….

…..จากการเป็นผู้ไม่รู้หนังสือ (ซึ่งเกิดในปี 1837 ในหมู่บ้านที่มีเพียงโรงเรียนประถมสำหรับเด็กชาย) ก็ได้เกิดคณะที่ดำเนินกิจการทางการศึกษาอบรมแก่เยาวชนหญิงขึ้น

…..จากสตรีคนหนึ่งที่ไม่ทราบว่าโรงเรียนคืออะไร แต่ก็ได้เกิดมีมหาวิทยาลัย “Auxilium” ที่สอนกลุ่มวิชา Scienze dell’Educazione ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ขึ้นกับสันตะสำนัก

…..จากซิสเตอร์คนหนึ่ง ที่อยู่แต่เพียงนบนอบเท่านั้น ได้กลับเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสามารถในการนำสตรีที่ได้รับมอบหมายจำนวนมาก ไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์

….จากสตรีผู้หนึ่ง ที่ไม่มีบทบาททางด้านสังคมและการเมือง (ไม่มีสิทธิแม้แต่จะออกเสียงด้วย) เป็นอาจารย์ของบรรดาสตรี ผู้ซึ่งได้รับความช่วยเหลือให้กลับเป็นผู้นำและอาจารย์ต่อ ๆ ไป

…..จากเยาวชนหญิงคนหนึ่งที่พบเห็นแต่เพียงขอบฟ้าของมอร์เนเซ อันเป็นหมู่บ้านที่อยู่โดด ๆ และไม่มีการติดต่อสื่อสารเลย กลับเป็นผู้ช่วยให้คณะหนึ่งถือกำเนิดมา และหลังจากความตายของท่านก็มีซิสเตอร์จำนวนถึง 200 คน มีบ้าน 26 แห่ง และได้แผ่ขยายไปทั่วอิตาลี ฝรั่งเศส อุรุกัย และอาร์เจนตินา (ในปัจจุบันมีถึง 85 ประเทศ)

…..จากสตรีผู้หนึ่งที่อ่อนโยน และได้กลับเป็นนักบุญ ผู้ร่วมกับคุณพ่อบอสโกตั้งคณะนักบวชหญิง ซึ่งเป็นคณะที่มีความเคลื่อนไหวทางด้านกิจการมากกว่าคณะอื่นในปัจจุบัน

ความประหลาดใจของเรา ได้สะท้อนความน่าพิศวงของมาเรีย มัสซาแรลโลเอง ซึ่งแน่นอน ท่านเองคงไม่เคยคิดที่จะสัมผัสกับมหัศจรรย์มากมาย ดังที่ท่านเองได้สารภาพออกมาอย่างซื่อ ๆ ว่า “พูดจริง ๆ แล้ว ดิฉันรู้สึกว่า เป็นเรื่องน่าพิศวงมาก ๆ ในเวลาเดียวกัน ก็รู้สึกงง เมื่อเห็นซิสเตอร์ทุกคนในบ้านมีความร่าเริงแจ่มใส และสงบราบคาบ เห็นได้ชัดว่า แม้ในความไม่เหมาะสมนี้ พระมารดาองค์อุปถัมภ์ แม่ที่รักยิ่งของเรา ก็ประทานพระพรมากมายให้แก่เรา (จดหมาย 7,2)

มาเรีย มัสซาแรลโล ผู้ซึ่งเจริญชีวิตในบรรยากาศชนบทที่เป็นเกษตรกรรม ท่ามกลางการดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ และขนบประเพณีแบบดั้งเดิม ระหว่างความยากลำบากที่เกิดจากความจน การดูถูกเหยียดหยามที่มาจากการถูกปล่อยปละละเลย และการย้ายถิ่น มาเรีย มัสซาแรลโล ได้ผ่านชีวิตมาอย่างเงียบ ๆ ไม่เด่นดัง แต่เป็นการดำเนินชีวิตอย่างราบเรียบ ก้าวไปอย่างสม่ำเสมอ จนถึงเส้นชัย ที่มิได้คาดหวัง ลักษณะที่หนักแน่น มั่นคง ไม่ย่อท้อ และนิสัยที่ ร่าเริงของมาเรีย มัสซาแรลโล พอที่จะทดแทนต่อสภาพด้อยโอกาสทางด้านชีวิตสังคมได้ ท่านได้รำลึกถึงวัยเด็กที่กระหายความรู้ ซึ่งทำให้เป็นเอกในการเรียนคำสอน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขัน การชุมนุมที่มีการถาม การตอบ และการอธิบาย พระศาสนจักรเป็นดังองค์กรแห่งความรอด และแห่งการปลดปล่อยให้พ้นบาป สำหรับมาเรีย มัสซาแรลโล และสำหรับสตรีอีกเป็นจำนวนมากที่ใช้ชีวิต ในขอบเขตจำกัดด้านบทบาท ในสังคมที่ปราศจากสิทธิในการออกเสียง ไม่มีความเสมอภาคในครอบครัว และในการงาน เป็นสตรีที่ได้รับการอบรมให้รอคอยวันสมรส ซึ่งสามีจะเป็นทั้งบิดาและหัวหน้า ที่พวกเขาจะต้องรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องนบนอบ เป็นผู้ที่จะต้องให้กำเนิดบุตร และให้ชีวิตของตนทั้งครบ อันเป็นธรรมชาติของสตรี และด้วยการทำเช่นนี้ จะสามารถทำให้สามีเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ได้

มาเรีย มัสซาแรลโล ทำให้เราคิดถึงสตรีจำนวนมากที่ไม่มีโอกาส และสิทธิพิเศษ เพื่อรับการอบรมในสังคม แต่เติบโตขึ้นมาโดยได้รับความรู้ที่พระศาสนจักรให้เปล่า ๆ นั่นคือ ความรู้ทางภาษาลาตินอย่าง งู ๆ ปลา ๆ บทเพลง ดนตรี ประวัติศาสตร์ และเทวศาสตร์แบบง่าย ๆ การเรียนคำสอน และการร่วมมือในกิจกรรมของวัด ได้ช่วยให้พัฒนาตนที่เหมาะสม กับชีวิตของตน และพร้อมสำหรับการดำเนินชีวิต โดยทั่ว ๆ ไป การไม่รู้หนังสือของชุมชนอิตาเลียนค่อย ๆ ลดน้อยลงในศตวรรษที่ 18 (แรก ๆ สำหรับบุรุษและต่อมาก็สำหรับสตรี) ในประเทศอิตาลี ที่เพิ่งได้รับเอกราช การส่งเสริมการศึกษานั้น ทำให้ประชาชนพ้นจากการเชื่อถือในทางผิด ๆ และสนับสนุนความก้าวหน้าและอารยธรรม แต่อาศัยการศึกษาที่แตกต่างกัน บรรดาสตรีได้รับการอบรมเฉพาะด้านศีลธรรม และศาสนา ด้านครอบครัว ด้านความสงบสุขของพลเมือง และด้านงานบ้าน เป็นต้น

ในสภาพบรรยากาศแบบนี้ ได้มีการพัฒนาการก้าวหน้าในพระพรพิเศษด้านชีวิตจิต ที่จะให้การศึกษาอบรมแก่เยาวชนหญิง กระแสเรียกภารกิจด้านการศึกษามีอยู่แล้ว ในความปรารถนาของมาเรีย มัสซาแรลโล ที่ให้มีการเรียนรู้ และสอนอ่านเขียน และภายหลังก็มีอยู่ในโกรินนา ซึ่งสอนดนตรีให้สมาชิกในหมู่คณะ (ต่อมาภายหลังคุณพ่อคอสตามาญา นักดนตรีและนักแต่งเพลง รวมทั้งเป็นผู้นำกลุ่มนักร้อง ได้เป็นผู้สอนให้ นอกเหนือจากการเป็นผู้นำวิญญาณ) รวมทั้งความพยายามที่จะเรียนรู้ภาษาต่างๆ ซึ่ง มาเรีย มัสซาแรลโล ได้สนับสนุนให้เรียนรู้ เสมือนเป็นภาษาฝ่ายวิญญาณมากกว่า ความสัมพันธ์ของถ้อยคำ เช่น ท่านกล่าวว่า “การเรียนรู้ภาษาต่าง ๆ ของโลกนี้ จะทำให้เธอเรียนรู้ภาษาจิตใจ เพื่อจะติดต่อกับพระเป็นเจ้า ควบคู่ไปด้วย (จดหมาย 22,12)

เยาวชนหญิงชาวมอร์เนเซ ดำเนินชีวิตอยู่ในบรรยากาศที่มีปัญหา ทางด้านสังคมและการเมือง ซึ่งเป็นช่วงของประวัติศาสตร์ที่ไม่ง่ายนัก สำหรับการดำเนินชีวิต เพราะมีทั้งความวุ่นวายทางสังคมและการจลาจล นอกจากนี้ ยังมีปัญหาทางด้านการเมืองที่สับสนปนเปกับด้านความเชื่อ กษัตริย์ Carlo Alberto ได้ใช้ข้อกล่าวหาของสิทธิยันเซนิสเพื่อต่อสู้กับบรรดาพระสงฆ์ ที่พัวพันอยู่กับหน่วยงานลับ ลัทธินี้แพร่หลายอยู่ทั่วไป ในหมู่ผู้ที่เป็นความสำคัญเกี่ยวกับการรับศีล และทำให้สัตบุรุษหันเหไปจากการรับศีลมหาสนิท (พระสงฆ์เจ้าวัดปฏิเสธ ที่จะโปรดศีลอภัยบาป และให้รับศีลมหาสนิทได้ เฉพาะช่วงปาสกาเท่านั้น) เพราะเหตุนี้ จึงทำให้ศีลธรรมเสื่อมมากยิ่งขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนี้บ่อย ๆ เขาก็เกิดความเคยชิน และขาดความไว้วางใจกัน ระหว่างอำนาจทั้ง 2 นี้ ได้มีการต่อต้านทุกสิ่งที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย จนถึงกับมีคณะผู้แทนเข้าเฝ้ากษัตริย์ Carlo Alberto ด้วยจุดประสงค์ที่จะขับไล่คณะเยซูอิตออกไป (ปี 1848)

ดูเหมือนว่า ปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่โดยรอบนั้นมิได้พาดพิงมาถึงมาเรีย มัสซาแรลโล ผู้ซึ่งไม่ได้มุ่งหวังอะไรมากนัก นอกจากความซื่อสัตย์ การอุทิศตน ซึ่งเป็นทางที่เปิดสำหรับท่าน ที่จริงเราไม่อาจบอกได้ว่า ท่านได้ตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตและนำชีวิตของท่านไปทางใด ท่านเพียงแต่เป็นผู้ที่นอบน้อมเชื่อฟังต่อการดลใจต่อผู้ที่ท่านถือว่าเป็นผู้ที่มีชีวิตจิตสูงกว่า ด้วยความเรียบง่ายของการถวายตน ที่มาจากความกระหายหาพระเจ้า และจากความเอาจริงเอาจังในด้านการอบรมตนเอง ในการเจริญก้าวหน้าด้านจิตใจ และการศึกษาของเด็ก ๆ ที่ “หญิงสาวชาวมอร์เนเซ” ได้รับมอบหมาย ท่านเองไม่คิดที่จะวางโครงการ จัดตั้งกิจการใหม่ในพระศาสนจักร โดยเฉพาะในยุคที่สตรีไม่มีโอกาสที่จะคิดสร้างสรรค์ และการถวายตนของสตรีก็ขึ้นกับการเข้าอารามเท่านั้น (ที่จริง คณะอุร์ซูลินจำเป็นต้องละชีวิตแพร่ธรรมด้านการให้การศึกษาอบรมแบบคริสตชน และการสอนวิชาชีพแก่เยาวชนหญิง เพื่อกลับไปเป็นคณะนักพรตหญิง และเป็นเช่นนี้ จนกระทั่งพระสันตปาปา ปีโอที่ 7 ได้สถาปนา Angela Merici เป็นนักบุญในปี 1861) ตัวอย่าง เช่น ความคิดที่จะเป็นนักบวชแท้ในพระศาสนจักร ขณะเดียวกัน ก็อยู่ในโลกแบบพลเมืองทั่วไป โดยอยู่เป็นกลุ่มชนอิสระในสังคม (เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่จะลบล้างหมู่คณะนักบวชให้หมดไป รวมทั้งการหมดสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของ ในสภาพที่มีความขัดแย้งของพระศาสนจักรกับรัฐ) สภาพเช่นนี้เป็นทางออกแบบ แบบธรรมชาติของประสบการณ์ชีวิตที่มอร์เนเซ อย่างไรก็ตาม เป็นความจำเป็นของช่วงประวัติศาสตร์ในขณะนั้น และในความนบนอบต่อผู้ใหญ่ด้วย