การเข้ามาทำงานในไทย

ประวัติของคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ในประเทศไทย
พ.ศ. 2474 (ค.ศ. 1931) ถึง พ.ศ. 2549 (ค.ศ.2006)

logo_fma

ภารกิจของคณะในประเทศไทย

คณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ในประเทศไทยเริ่มภารกิจ ที่ตำบลบางนกแขวก จังหวัดสมุทรสงคราม ในช่วง 6 ปี แรก คณะได้ให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์ซาเลเซียนในงานโรงเรียน การสอนคำสอน และให้การอบรมกลุ่มสตรีที่มุ่งถวายตนรับใช้พระ ปัจจุบันคือซิสเตอร์คณะผู้รับใช้ดวงหทัยนิรมลของพระแม่มารีย์

ต่อมาคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ ได้มาช่วยทำการสอนเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ที่โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ (ปัจจุบันคือโรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัย) ซึ่งเป็นโรงเรียนของคณะซาเลเซียน ณ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

ปี พ.ศ.2482 (ค.ศ.1939) คณะได้แยกตัวออกมาจากโรงเรียนเซนต์โยแซฟ และก่อตั้งโรงเรียนนารีวุฒิขึ้น เพื่อบริหารจัดการโรงเรียนด้วยตนเอง และใช้ชื่อหมู่คณะว่า “บ้านพระหฤทัย” การจัดการศึกษาของโรงเรียนได้ใช้วิธีการอบรมตามระบบป้องกันของ นักบุญยอห์น บอสโก และให้การดูแลเอาใจใส่เยาวชน เป็นต้นเยาวชนที่ยากจนและด้อยโอกาส ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ 1900 คนและเป็นโรงเรียนรางวัลพระราชทาน ระดับอนุบาลขนาดใหญ่ประจำปีการศึกษา 2547 (ค.ศ. 2004)

ปี พ.ศ.2490 (ค.ศ.1947) พระสังฆราชเรอเน เปรอสได้ขอให้คณะจัดการศึกษาอบรมแก่เด็กและเยาวชนที่พิการทางสายตา ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดพญาไท กรุงเทพ ฯ โดยมีซิสเตอร์โรส มูร์ และซิสเตอร์ เชชีลีอา ชั้น ผลาวสุ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการที่นั่น มีเยาวชนผู้พิการทางสายตาได้รับการพัฒนาเป็นจำนวนมาก จนสามารถเป็นผู้นำทางสังคม เช่น รศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ จบการศึกษาระดับปริญญาโทนิติศาสตร์มหาบันฑิต จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น ต่อมาในปี พ.ศ.2535 (ค.ศ.1992) คณะได้คืนภารกิจการจัดการศึกษาและ

งานอภิบาลให้กับมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย หลังจากที่ได้อุทิศตนดำเนินงานเพื่อเด็กและเยาวชน ที่พิการทางสายตามาเป็นเวลา 55 ปี

ปี พ.ศ.2493 (ค.ศ.1950) ได้ขยายกิจการด้านโรงเรียนไปทางภาคใต้ ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาตามคำเชื้อเชิญของพระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี คือ “โรงเรียนธิดานุเคราะห์” ชื่อ “บ้านแม่พระองค์อุปถัมภ์”ปัจจุบันมีนักเรียน 2836 คน และเป็นโรงเรียนรางวัลพระราชทานระดับประถมศึกษาขนาดใหญ่ในปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ.2002) และระดับมัธยมศึกษาขนาดกลางในปี พ.ศ.2546 (ค.ศ.2003)

ปี พ.ศ. 2503 (ค.ศ.1960) ได้เปิดหอพักหญิงเอาซีลีอุมและบ้านศูนย์กลางของคณะ ที่ถนนศาลาแดง กรุงเทพฯ หอพักได้รับรางวัลหอพักดีเด่นและมีมาตรฐานหลายครั้ง

ปี พ.ศ. 2504 (ค.ศ.1961) ได้ขยายกิจการด้านโรงเรียนไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี คือ”โรงเรียนเซนต์เมรี่” ชื่อ “บ้านแม่พระแห่งพระหรรษทาน” ปัจจุบันเปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีนักเรียน 2336 คน เป็นโรงเรียนรางวัลพระราชทานระดับประถมศึกษาขนาดใหญ่ปีการศึกษา 2547 (ค.ศ.2004)
ที่จังหวัดอุดรธานี ในระยะเริ่มแรก นอกจากจะมีภารกิจด้านโรงเรียนแล้ว พระคุณเจ้าเจมส์ ดูฮาร์ท ยังได้เสนอให้คณะซิสเตอร์รับผิดชอบดูแลเอาใจใส่เด็กกำพร้า ในบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าของสังฆมณฑล ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับโรงเรียนเซนต์เมรี่ เดิมบ้านเด็กกำพร้าแห่งนี้มีฆราวาส 2 ท่านช่วยดูแลอยู่ เวลานั้นมีเด็กกำพร้าอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากความยากจนและจากสภาพของสังคมในระยะนั้น

ปี พ.ศ.2515 (ค.ศ.1972) คณะได้เปิดนวกสถาน”แม่พระนิรมลทิน”เป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อให้การฝึกอบรม นวกเณรีที่ประสงค์เป็นนักบวช ในระยะเริ่มแรกคณะในประเทศไทยไม่มีนวกสถาน จึงได้ส่งนวกเณรีเข้ารับการฝึกอบรมที่ประเทศอินเดียและประเทศอิตาลีตามลำดับ ต่อมาคณะเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีนวกสถานของตนเอง จึงได้ซื้อที่ดินเพื่อเป็นที่ตั้งนวกสถาน ที่ถนนรามคำแหง 22 หัวหมาก กรุงเทพๆ ต่อมาคณะพบว่าสถานที่นี้ ไม่อำนวยความสะดวกให้แก่พระสงฆ์ที่จะมาให้ความรู้แก่นวกเณรี อีกทั้งไม่มีภารกิจที่นวกเณรีจะฝึกฝนตนเองให้มีประสบการณ์ในการทำภารกิจด้านการอบรม ตามพระพรพิศษของของคณะ ดังนั้นในปี พ.ศ.2539 (ค.ศ.1996) คณะจึงได้ย้ายนวกสถานไปยังอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ชื่อนวกสถานมารีย์นิรมล ซึ่งอยู่ใกล้กับโรงเรียนมารีย์อุปถัมภ์ และปรับเปลี่ยนสภาพของนวกสถานเดิมที่ถนนรามคำแหง ให้เป็นหอพักหญิงสำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไป

ปีพ.ศ. 2520 (ค.ศ.1977) สมัย ฯพณฯ พระสังฆราชยอด พิมพิสารประมุขแห่งสังฆมณฑลอุดรธานี ผู้สืบตำแหน่งแทนพระสังฆราชเจมส์ ดูฮาร์ทซึ่งลาพักจากตำแหน่งหน้าที่ เมื่อปีพ.ศ.2518(ค.ศ. 1975) ได้ยกเลิกกิจการบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าที่โรงเรียนเซนต์เมรี่ จังหวัดอุดรธานี ทั้งนี้เพราะเด็กมีจำนวนลดลงมาก และภารกิจนี้ไม่ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นในเวลานั้นแล้ว จึงได้ย้ายเด็กที่เหลือไปที่บ้านเด็กกำพร้า ซึ่งสงฆ์คณะพระมหาไถ่ดูแลอยู่ที่พัทยา และได้เปลี่ยนบ้านเลี้ยงเด็กกำพร้าเป็นศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับเยาวชนหญิงที่อยู่ในชนบทที่ห่างไกล เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิต และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในท้องถิ่นของตน

ปีพ.ศ.2522 (ค.ศ.1979) คณะได้เปิดโรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม คือ โรงเรียนมารีย์อุปถัมภ์ชื่อ“บ้านแม่พระองค์อุปถัมภ์“ เริ่มรับนักเรียนระดับอนุบาลถึงระดับประถมศึกษาและได้ขยายการศึกษาต่อจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ปัจจุบันโรงเรียนได้จัดการศึกษาไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีนักเรียนประมาณ 1900 คน ได้เป็นโรงเรียนรางวัลพระราชทานระดับมัธยมศึกษาขนาดกลาง เมื่อปีพ.ศ. 2544 (ค.ศ.2001)

ปีพ.ศ 2526 (ค.ศ.1983) คณะได้ช่วยบริหารงานให้แก่มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ที่ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เพื่อพัฒนาเยาวชนหญิง ให้มีความชำนาญด้านงานฝีมือประเภทต่าง ๆ และการนวดแผนโบราณจนสามารถประกอบอาชีพได้ เยาวชนบางคนที่มีสติปัญญาแต่ขาดโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน ทางศูนย์ได้ติดต่อส่งเยาวชนเข้ารับการศึกษากับหน่วยการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ทำให้เด็กและเยาวชนที่พิการทางสายตาสามารถพัฒนาตนทั้งด้านการศึกษาและอาชีพได้ในระดับหนึ่ง และหลายคนสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพสำหรับตนเองและครอบครัวได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี มีความสุขและด้วยความภาคภูมิใจ

ปีพ.ศ.2527 (ค.ศ. 1984) ในขณะนั้นซิสเตอร์นาเดีย แฟร์โรเป็นอธิการิณีเจ้าคณะ พระสังฆราชยอด พิมพิสาร ประมุขแห่งสังฆมณฑลอุดรธานี ได้มอบโรงเรียนวิสุทธิวงศ์โพนสูง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานีให้แก่คณะ เพื่อให้จัดการเรียนการสอนแก่เด็กและเยาวชนที่เรียนที่นั่น และมีครอบครัวศักดิ์สิทธิ์เป็นองค์อุปถัมภ์ โรงเรียนวิสุทธิวงศ์โพนสูงเป็นโรงเรียนสหศึกษา ในระยะแรกนักเรียนทั้งหมดเป็นคาทอลิก ต่อมามีนักเรียนที่นับถือศาสนาอื่นเข้ามาเรียนด้วย โรงเรียน เปิดสอนโดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมการเรียน แต่เมื่อทางโรงเรียนได้เปิดระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทางโรงเรียนจึงได้ขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้ช่วยชำระค่าใช้จ่ายบ้างเล็กน้อย ปัจจุบันมีนักเรียนตั้งแต่ชั้นเตรียมประถมถึงมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 524 คน

ปี พ.ศ. 2532 (ค.ศ. 1989) พระสังฆราชยอด พิมพิสาร ได้ขอให้คณะเปิดบ้านที่อำเภอชัยพร จังหวัดหนองคาย เพื่อช่วยรับผิดชอบพิธีกรรมของวัดนักบุญยอแซฟกรรมกร สอนคำสอนและออกเยี่ยมหมู่บ้านในตำบลบ้านกลางและตำบลห้วยเซือม ซิสเตอร์ที่ไปเริ่มภารกิจที่นั่น คือ ซิสเตอร์อเมเดอา กีนี ซิสเตอร์เมรี่ จิตอุทัศน์และซิสเตอร์นุจรินทร์ บุดดา การเดินทางไปกลับระหว่างอุดรและชัยพรเป็นระยะทางไกลและไม่สะดวก เป็นต้นในฤดูฝน ที่สุดซิสเตอร์อเมเดอา กีนี และซิสเตอร์เมรี่ จิตอุทัศ จึงได้รับอนุญาตให้พักค้างคืนที่บ้านชัยพร

ปี พ.ศ.2533 (ค.ศ.1990) พระสังฆราชยอด พิมพิสาร ได้ขอให้คณะช่วยบริหารการศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลบ้านดุง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี และต่อมาในปีการศึกษา 2548 (ค.ศ. 2005) สังฆมณฑลได้รับโรงเรียนไปบริหารด้วยตนเอง

วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2534 (ค.ศ.1991) พระสังฆราชยอด พิมพิสาร ได้ขอให้คณะช่วยบริหารการ ศึกษาที่โรงเรียนมหาไถ่ศึกษาเลย ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง จังหวัดเลย ชื่อ”บ้านบุญราศีเลารา วิกุญญา” ปัจจุบันนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมี จำนวน 1874 คน

ปี พ.ศ.2534 (ค.ศ.1991) พระสังฆราชยอด พิมพิสาร ได้ขอให้คณะช่วยงานอภิบาลคริสตชนที่บ้านชัยพร จังหวัดหนองคาย คณะจึงได้เปิดเป็นศูนย์ตัดเย็บเสื้อผ้าที่นั่น ในเวลาเดียวกันซิสเตอร์ก็ออกเยี่ยมหมู่บ้านและอภิบาลกลุ่มคริสตชนในบริเวณนั้น ปีนั้นซิสเตอร์อีเมลดา บารัตตีโน เป็นอธิการิณี

ปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) คณะได้เริ่มขยายภารกิจไปในยังประเทศกัมพูชา ซิสเตอร์ผู้บุกเบิกจากแขวงไทย คือ ซิสเตอร์เมรี่ ไอยลาธรรมทูตจากประเทศอินเดีย และ ซิสเตอร์ลักขณา เยาวสังข์ ทางศูนย์กลางคณะได้ส่งซิสเตอร์มาช่วย 2 ท่าน คือ ซิสเตอร์มาเรีย เอเลนา จากประเทศพิลิปปินส์ และซิสเตอร์เทเรซิตา การ์เซีย จากประเทศโคโลมเบีย

ปี พ.ศ.2537 (ค.ศ.1994) ถึง พ.ศ.2540 (ค.ศ.1997) คณะได้ส่งซิสเตอร์มาร์การิตา เปเรส ซิสเตอร์พรพิรุณ จันทร์เด่นดวงไปช่วยภารกิจที่นั่น ช่วงนั้นมีการส่งบุคลากรมาประเทศไทยเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในด้านวิชาชีพ เช่นการตัดเย็บ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้พวกเขานำความรู้ที่ได้รับไปช่วยคณะซิสเตอร์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนที่นั่น และเพื่อตอบสนองความต้องการของเด็กและเยาวชนในช่วงนั้น คณะได้ริเริ่มภารกิจใหม่ ๆ และหลากหลาย ได้แก่ ศูนย์เยาวชน บ้านพักนักเรียนประจำ ศูนย์การศึกษาเพื่อสอนภาษาและวิชาตัดเย็บ ศูนย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังออกเยี่ยมครอบครัวที่อยู่ในชุมชนใกล้เคียง ซึ่งเอื้อให้การแพร่ธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีชาวกัมพูชาจำนวนหนึ่งกลับใจและดำเนินชีวิตคริสตชนอย่างเข้มแข็งจนถึงทุกวันนี้ หลังจากสมัชชาครั้งที่ 20 ผู้ใหญ่จากศูนย์กลางของคณะ ได้มีมติให้ประเทศกัมพูชา พม่า เวียตนาม ตีมอร์ตะวันออก เข้าร่วมเป็นสหพันธ์ภาค ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 (ค.ศ.1996) โดยมีซิสเตอร์ลีนา เกียนดอตโต เป็นอธิการิณีสหพันธ์ภาค ประเทศไทยจึงไม่ได้รับผิดชอบภารกิจที่ประเทศกัมพูชาอีกต่อไป ส่วนซิสเตอร์ลักขณา เยาวสังข์ยังคงเป็น ธรรมทูตที่นั่นจนถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ.1996) พระสังฆราชยอด พิมพิสาร ได้เปิดวัดใหม่ที่อำเภอบึงกาฬ และเปิดโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาใกล้ ๆ กับวัด ฯพณฯ ได้ขอให้คณะช่วยบริหารการศึกษา ณ โรงเรียนแห่งใหม่นี้ คณะได้มอบหมายให้ซิสเตอร์เทเรซา ไพเราะ ศันสนยุทธเป็นผู้รับผิดชอบ และมีซิสเตอร์อรพินท์เป็นผู้บริหารโรงเรียน โรงเรียนมหาไถ่ศึกษาบึงกาฬ ชื่อ “บ้านมาเรีย มัสซาแรลโล” ทำพิธีเปิดวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 (ค.ศ.1996) ปัจจุบันนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับประถมศึกษามีจำนวน 700 คน

ปี พ.ศ.2540 (ค.ศ.1997) คณะได้เปิดหอพักนักเรียน นักศึกษา”บ้านแม่พระองค์อุปถัมภ์” ที่อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเปิดให้เยาวชนจากชุมชนที่ห่างไกลได้มีโอกาสเข้ามาเรียนต่อในเมือง และมีที่พักอาศัยที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา

ปีนี้คณะได้ก่อตั้งมูลนิธิธิดารักษ์ ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เพื่อให้เด็กและเยาวชนหญิงที่ยากจนและด้อยโอกาส ได้รับการศึกษาและมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย และได้ขยายภารกิจการด้านหอพักเพื่อให้เด็กและเยาวชนกลุ่มชาติพันธ์ในจังหวัดเชียงใหม่ ให้ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในเมืองและฝึกอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว เป็นภารกิจที่คณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ได้สืบสานพระพรพิเศษของผู้ตั้งคณะ และได้ร่วมมือกับพระศาสนจักร เพื่อให้การศึกษาอบรมและอภิบาลเด็กและเยาวชนในประเทศไทยนานนับได้ 75 ปี เป็นการก้าวเดินทีละก้าวอาศัยความช่วยเหลือของพระเป็นเจ้าและพระมารดาองค์อุปถัมภ์